Friday, October 9, 2015

ศิลปะกับการแสดงออกทางอารมณ์: Art & Emotional Expression

ศิลปะกับการแสดงออกทางอารมณ์: Art & Emotional Expression
ประชิด ทิณบุตร

ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารคุรุปริทัศน์ ปีที่ 15 (พ.ย.-ธ.ค.)2533 หน้า 86-91
ชื่อผลงาน earth art "Pigment with Nature โดยผศ.ประชิด ทิณบุตร : 2533 สถานที่: น้ำตกคลองน้ำไหล จ.กำแพงเพชร

ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้านทัศนศิลป์ (Visual Arts) กล่าวได้ว่ามีลู่ทาง มีวิธีการและกรรมวิธีการสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลาย ลักษณะ เช่น การวาดเส้น (Drawing) การระบายสี (Painting) การปั้น (Sculpture) การหล่อ การแกะสลัก ฯลฯ วิธีการต่างๆ เหล่านี้คือลู่ทางแห่งการนำเสนอผลงาน(presentation) ที่ศิลปินหรือผู้สร้างงานศิลปะไช้เป็นสื่อกลาง(Medium) แห่งการแสดงออกทางความคิดที่ต้องการ โดยที่มีแรงบันดาลใจ หรือจุดมุ่งหมายอะไรบางอย่าง ผลักดันให้ผู้สร้างผลงานนั้น เกิดพฤติกรรม แห่งการจัดทำหรือที่เรียกว่า "การสร้างสรรค์ผลงาน" นั้น

ผู้สร้างงานแต่ละคนก็ย่อมมีวิธีการที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัวมาก (Individuality) เพราะผู้สร้างต้องการ สร้างงานในสิ่งที่ตนเองต้องการ ดังนั้นการสร้างสรรค์จึงเป็นกระบวนการทำงานที่ต้องมีการ ดัดแปลงแก้ไขบัญหากันอย่างต่อเนื่อง เมื่อไดที่ผู้สร้างงานเกิดความพึงพอใจ หรือรู้สึกว่าเป็นการเพียงพอแล้ว เมื่อนั้น การทำงานจึงจะสิ้นสุด คือได้ผลงานที่สำเร็จออกมา การทำงานด้านศิลปะจึงจัดได้ว่า เป็นกระบานการทำงานที่ต้อง เกี่ยวข้องกับปัจจัยหรือองค์ประกอบต่างๆ มากมายหลายด้าน ที่ผู้สร้างงานจะต้องบูรณาการ (Integrated) ปัจจัยเหล่านั้นมาใช้อย่างชาญฉลาดและเหมาะสม แต่ไม่ว่าผู้สร้างงานจะต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายๆ อย่างที่อาจจะแตกต่างกันออกไปตามสถานภาพ เหตุการณ์ หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้สร้าง งานศิลปะได้เกี่ยวข้องโดยตรงทั่วๆกัน ก็คือสภาวการณ์ของอารมณ์(Emotional) ที่เกิดมีขึ้นในจิตใจผู้สร้างงานแต่ละคนในขณะเวลาที่ทำงาน อยู่นั่นเอง อารมณ์ (Emotion) มักเป็นส่วนประกอบอันหนึ่งในกระบวนการทำงาน ทางศิลปะที่นับว่าสำคัญและเป็นของคู่กันกับศิลปะ ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า " ศิลปะคือการแสดงออกซึ่งอารมณ์ " ซึ่งในที่นี้อาจจะมีความหมายเป็น 2 นัยก็ได้คือ เป็นการใช้ผลงานทางศิลปะเป็นสื่อแสดงความหมายแทน

ความรู้สึกความประทับใจบางอย่างของตัวผู้สร้างงานหรือศิลปินให้ปรากฎออกมาเป็นรูปร่าง-รูปทรงในลักษณะถ่ายโยง (Release) ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นนามธรรมในจิตใจให้ออกมาเป็นรูปร่าง รูปทรง ทางรูปธรรมที่สามารถรับรู้และมองเห็นได้ในการถ่ายโยงส่วนนี้เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้สร้างงานที่ต้องการแสดง
ออกมา (Express) ให้เห็นเป็นรูปธรรม ส่วนอีกนัยหนึ่งนั้นเป็นผลจากการที่มีผลงาน สำเร็จออกมา แล้วผลงานอันนี้ก็ยังปลุกเร้า (Evoke)หรือแสดงออก (Express) สู่ผู้ดู (Observer) ได้อีกซึ่งผู้ดูอาจจะได้รับ สุนทรียรส หรือปรากฎเห็นความงามเช่นเดียวกับผู้สร้างงานก็เป็นได้ดังเช่นในตัวอย่างงาน จิตรกรรมภาพ ดอกไม้ของผู้เขียนข้างล่างนี้

ในผลงานภาพเขียนสีน้ำมันภาพดอกไม้เป็นการแสดงออกในความประทับใจเรื่อง ของดอกไม้ที่ต้องการสื่อแสดงออกมา ด้วยการใช้สี, รูปร่าง, เส้นแสดงเนื้อหาเรื่องราวของความประทับใจเกี่ยวกับสีขอดอกไม้ รูปร่างของดอก ใบ ภาพที่ปรากฎก็คือผลของการทำงานที่ผสานสัมพันธ์กับอารมณ์ ความรู้สึก ความประทับใจที่มี
อยู่ภายในที่ได้แสดงออกมา และเชื่อว่าภาพนี้คงจะสร้างความรู้สึก และการรับรู้ให้เกิดทีขึ้นในผู้ดูได้เช่นกัน

ผู้เขียนมีความเห็นว่า การสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะของมวลมนุษย์นั้น มิใช่เพียงเพื่อเป็นการนำเสนอ รูปแบบความงามในลักษณะต่างๆทางรูปทรงสีสันหรือการกระทำเพียงเพื่อลอกเลียนแบบวัตถุที่ปรากฎเห็นเท่านั้น แต่ความจริงแล้วมนัษย์ยังต้องแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกภายในบางอย่างให้ปรากฎออกมาด้วย ดังเช่นที่ โครเซ่ (Benedetto Croce) นักสุนทรียศาสตร์ ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า ศิลปินหรือผู้สร้างงานศิลปะนั้นเกิดเห็น (Vision) ภาพอะไรบางอย่างหรือเกิดมีความรู้สึกบางอย่างในสมองขึ้นมาก่อน ซึ่งในที่นี้ โครเซ่ ใช้คำว่า Intuition หรืออาจจะแปลความหมายได้ว่าเป็นภาพที่เห็นแว่บหรือผุดขึ้นมาในจิตใจ โดยที่ไม่ได้วางแผน ไว้ล่วงหน้าและไม่ใช่ภาพของประสบการณ์เก่าๆ ที่สมบูรณ์อยู่แล้ว แต่เป็นภาพของสิ่งใหม่ๆที่ยังไม่ชัดเจน แจ่มแจ้งที่จะให ้ร ู้ว่าอะไรเป็นอะไรยังคลุมเครืออยู่ภายใน เมื่อใดที่ Intuition ได้รับการพัฒนา หรือการหมักตัว (Ferment) ถึงขีดสุดแล้ว ศิลปินจึงการแสดงออก (Express) ซึ่งสิ่งใหม่นี้ออกมา (To the promotion of new doctrine) หรือในที่สุดศิลปินต้องมีการ ขีด เขียนความต้องการด้วยการกลั่นกรอง สิ่งใหม่นี้ออกมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการแสดงออกซึ่งอารมณ์ของศิลปินนี้จึงเรียกได้ว่า ทำให้เกิด มีสิ่งใหม่ขึ้นเสมอ และสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นก็มิใช่สิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของตัวศิลปินที่สมบูรณ์มาแต่เดิมด้วย

โครเซ่ มีความเชื่อว่าผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นนั้น มิใช่ข้อเท็จจริงทางกายภาพ (Physical facts) เป็นเพียงการนำเอาปรากฎการณ์ทางกายภาพ(Physical phenomena) เข้ามาเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับงานศิลปะเท่านั้น เพราะข้อเท็จจริงทางกายภาพ ไม่ใช่คุณสมบัติของความจริงเที่ยงแท้เช่นสีที่
ปรากฎมันไม่ได้เป็นอะไรทั้งนั้น เป็้นเพียงความเข้มของอะตอมที่เกิดมีขึ้น หรือรวมตัวกันเข้าเท่านั้น แต่ผลงานศิลปะคือสิ่งซึ่งศิลปินได้อุทิศเวลาหรือได้มอบความเป็นจริงทั้งหมดในชีวิต และเติมแต่งกลั่นกรอง ด้วยการหยั่งรู้ในความปิติ ยินดี ที่มีอยู่ภายในให้ปรากฎออกมา และผลงานศิลปะที่ปรากฎออกมานี้ โครเซ่เชื่อว่าคือสิ่งที่เป็นความจริงสูงสุด (Supremely real)

ผู้เขียนมีความเห็นที่สอดคล้องกับแนวความคิดของโครเซ่ในเบื้องแรก ที่กล่าวว่าผู้สร้างงานศิลปะนั้น เกิดการมองเห็นภาพอะไรบางอย่างเกิดขึ้นมาในสมองก่อนการที่จะแสดงออกมา เพราะการมองเห็นอะไรบางอย่างของศิลปินที่เกิดความต้องการที่จะแสดงอารมณ์ หรือความคิดออกมาทันทีด้วย
การแสดงปฏิกิริยาทางกายตอบรับ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในทันที เช่นการร่างภาพคร่าวๆ (Sketch) ออกมาหรืออาจจะคิดกลั่นกรองไว้ภายในสมอง แล้วจึงค่อยแสดงออกมาที่หลังก็เป็นได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่า สิ่งที่ผุดขึ้นมาในจิตใจในช่วงแรกนี้มีอิทธิพลส่งผลให้ศิลปินแสดงออกมาซึ่งอารมณ์ให้ปรากฎเป็น
ผลงานออกมาในที่สุด ดังเช่นภาพผลงานลายเส้นที่ผู้เขียนใคร่ขอนำมายกเป็นตัวอย่างประกอบให้เห็น ถึงความเข้าใจในความคิดที่อ้างถึงนี้
ภาพนี้ผู้เขียนเอง เขียนขึ้นมาในขณะที่กำลังอยู่ห้องประชุมสัมมนาแห่งหนึ่งเป็นเวลาที่กำลังนั่งฟังบรรยายและจดบันทึกจู่ๆ ก็เกิดความคิดแว่บเข้ามาในใจว่าเส้นที่เป็นลายมือตัวหนังสือที่เขียนลงในกระดาษนั้นไปคล้องจองเกี่ยวกับเรื่องราวของลวดลายไทยที่เคยได้ร่ำเรียน หรือเคยเขียนมา แต่ไม่ใช่เห็นว่าเป็นลายที่เคยเขียน เคยลอกมา ในอดีต เป็นความรู้สึกใหม่ที่อยากจะสร้างลวดลายใหม่ให้ปรากฏขึ้น เป็นความรู้สึกที่อยากจะประสาน ประสบการณ์ ทักษะ และรูปแบบของลวดลายไทย สัตว์หิมพานต์ ออกมาในรูปลักษณ์แบบใหม่ ซึ่งข้าพเจ้า ก็ไม่รู้ว่ามันจะออกมาในรูปใด และแม้ว่ามันจะได้ปรากฏออกมาดังที่เห็นนี้ แล้ว ข้าพเจ้าเองก็ยังมิได้ตั้งชื่อว่า มันคืออะไรกันแน่ ควรที่จะมีชื่อว่าเป็นสัตว์อะไร แต่ก็รู้คร่าวๆว่า มีลักษณะคล้ายสัตว์หิมพานต์หรือสัตว์ในจินตนาการที่ข้าพเจ้าให้ปรากฏออกมา ตามสภาวะของอารมณ์ในขณะนั้น ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่ได้เกิดความพะวง ห่วงใยในผลสำเร็จของงานที่เกิดขึ้นนั้นเท่าใดนัก ในระหว่างการขีดเขียนอยู่นั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเอง ได้ถูกตัดขาดจากสิ่งรอบการไปชั่วขณะ ข้าพเจ้ามิได้รับรู้ว่าวิทยากรพูดถึงสิ่งใด ไปถึงไหนแล้วมีแต่การจดจ่อ อยู่กับการสร้างงานโดยเฉพาะเท่านั้น รู้สึกว่ากำลังอยู่ในโลกส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆทั้งสิ้น ต่อเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าการขึดเขียนนั้นเป็นการเพียงพอแล้ว เหมาะสมกับความต้องการแล้ว เมื่อนั้นข้าพเจ้าจึงได้ให้ความสนใจกับสิ่งที่อยู่รอบกายหรือมีพฤติกรรมที่เป็นไปตามปกติวิสัยอีกครั้ง อีกประการหนึ่ง ในชั่วขณะที่ข้าพเจ้ากำลังกลั่นกรอง หรือจัดภาพให้เป็นไปตามการเห็นที่เกิดขึ้น ในใจนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการสร้างสรรค์ของข้าพเจ้านั้น ยังเป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดเอาความสนใจของผู้ที่นั่งใกล้เคียงไปด้วย เช่นมีกิริยาอาการที่ชำเลืองมา การเฝ้าดู การซักถาม มีบางคนถึงกับให้เขียนลงในสมุดส่วนตัวของเขาด้วย แต่ในการเขียนขึ้นใหม่ให้กับเขานั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่า มันไม่เป็นที่พอใจ หรือมีการเอา ใจใ่ส่เท่าผลงานที่ข้าพเจ้าสร้างสรรค์ไว้เป็นอันดับแรก

จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นข้อค้นพบของผู้เขียนเองที่ประสบมาในฐานะของผู้สร้างงานศิลปะคนหนึ่งที่เห็นว่า การที่ศิลปินหรือผู้สร้างงานศิลปะจะผลิตผลงานออกมานั้นจะต้องมีเหตุแห่งที่มา โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์นี้มีนักวิจารณ์หลายคนที่มักจะกล่าวว่า "ศิลปะคือการแสดงออกซึ่งอารมณ์" ในประเด็นนี้มีนัก สุนทรียศาสตร์อีกท่านหนึ่งที่มีความเห็นคล้ายกับโครเช่ คือ จอห์น ฮอสเปอร์ (John Hospers) ฮอสเปอร์ได้ขยายความในคำกล่าวนี้ว่า ศิลปินตกอบู่ในอำนาจของอารมณ์ ที่เขาพอใจและต้องการที่จะอธิบายหรือถ่ายโยง ปลด เปลื้องอารมณ์อันนั้นให้ออกมาโดยผ่านกิจกรรมการสร้างสรรค์ ความคิดของการสร้างสรรค์ นั้นจะเกิดมีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก่อขึ้นในจิตใจมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับที่สัมพันธ์ ร่วมกับภาวะของ อารมณ์ จิตใจ และจนกระทั่งได้ผลงานที่สำเร็จออกมา ซึ่งก็แสดงว่าศิลปินได้ค้นพบช่องทางการถ่ายโยงหรือปลดเปลื้องเอาอารมณ์ที่ครอบงำเขาอยู่ขณะช่วงนั้นออกมาได้ แต่ถึงอย่างไร ฮอสเปอร์ก็อดที่จะสงสัยไม่ได้ว่ากระบวนการนี้ เป็นสิ่งที่ยึดถือหรือเป็นความจริงโดยทั่วไปในหมู่นักศิลปิน หรือเปล่า ฮอสเปอร์มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของอารมณ์ค่อนข้างละเอียดกว่าโครเซ่ คือฮอสเปอร์ต้องการที่จะอธิบายความสัมพันธ์ที่แท้จริงในระหว่างผลงานศิลปะกับอารมณ์ว่า เราจะสามารถแปลความหมายได้ อย่างไร ผลงานกับอารมณ์อันไหนจะสำคัญกว่ากัน ฮอสเปอร์ได้ตั้งคำถามได้ตั้งคำถามดังเช่น ผู้สร้างงานได้วางแนวทางในจิตใจและล่องลอยไปกับสิ่งที่ติดหูติดตามาแล้ว จึงได้พัฒนานำมาขยาย แก้ไขปรับปรุง จนกระทั่งจัดองค์ประกอบของงานให้ออกมาได้ดั่งใจที่ต้องการ หรือว่าศิลปินได้ถูกครอบงำ ด้วยอารมณ์ให้กระทำสิ่งนั้นออกไป ภายใต้สภาวะว่าเขาเป็นใครและอยู่ในเหตุการณ์แบบใด และในที่สุด ของความเป็นจริงที่ปรากฎในผลงานนั้น มีหลักฐานหรือพยานอันใดที่แสดงให้เห็นว่าใช้อารมณ์ประกอบเข้าไป ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนั้นๆด้วย ฮอสเปอร์ได้พยายามชี้แจงแยกแยะในรายละเอียดของการ สร้างสรรค์งานศิลปะ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปลดเปลื้องอารมณ์ตามธรรมชาติของมนุษย์จริงๆว่า อารมณ์ที่ศิลปินต้องการถ่ายทอดใส่ลงไปในผลงานนั้นมิใช่สิ่งที่จะกำจัดให้หมดไปได้การใส่อารมณ์เข้าไปในผลงานนั้นเป็นเพียงการ เปลี่ยนสถานที่ใหม่ให้กับอารมณ์ (Relocating )ซึ่งแต่ก่อนนั้นก็ได้ปรากฎอยู่ใน ผลงานนั้นด้วย

ดังนั้นอารมณ์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการสร้างสรรค์ก็คืออารมณ์ที่ศิลปินกำลังบรรจงสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรูปร่างในงานศิลปะขึ้นมา มิใช่ว่าเป็นอารมณ์ที่ศิลปินรู้สึกว่าได้ผ่อนคลาย หรือความโล่งใจที่ได้ทำงาน ให้สำเร็จออกมาอารมณ์ในแง่ของศิลปะจึงเป็นอารมณ์ที่หลุดพ้นจากสัญชาตญาณตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่เกิดมีขึ้นในยามปกติวิสัยของชีวิตประจำวัน

ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของ อารมณ์ ที่จอห์น ฮอสเปอร์ กล่าวมานี้นั้นเป็นความคิดเห็นคลายกับ โครเซ่ ในประเด็นที่ว่า เป็นความรู้สึกที่ได้ผ่านการไตร่ตรองพิจารณามาแล้ว (Sense of contemplation) ความคืดเห็นของนักสุนทรียศาสตร์ทั้งสองท่านนี้ แม้จะมีความคล้ายคลึงกันก็ตาม แต่ในรายละเอียด แล้วมีการกล่าวอ้างที่แตกต่างประเด็นกันโดยที่ โครเซ่ ได้กล่าวเน้นในเรื่องของหลักการ ทฤษฎีในแนว กว้างๆเป็นแนวคิดเห็นในหลายประเด็นส่วนฮอสเปอร์มุ่งเน้นที่กระบวนการสร้าง สรรค์ของศิลปิน โดยเฉพาะ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลของอารมณ์หรือความรู้สึกที่ศิลปินได้ถ่ายทอดลง ในผลงานนั้นได้แสดงปฏิกิริยา
อย่างไรต่อผู้อื่น โครเซ่ได้กล่าวว่า Intuition ที่ศิลปินได้แสดงออกมานั้น มันเป็นสิ่งที่มีค่าเท่ากับทฤษฎีอันหนึ่ง ที่ศิลปินได้กลั่นกรองออกมาแล้ว ศิลปะหรือผลงานทีสำเร็จมานั้นมันมิใช่ สิ่งที่ทำหน้าที่แทนการใช้ประโยชน์ หรือการให้โทษ (Non-utilitarian act) มันมิได้ก่อให้เกิดความสุขใจ หรือทุกข์ใจ ที่ใครๆมุ่งหวังผล ประโยชน์ได้เพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดอยู่เหนือขอบเขตของสภาวะจิตใจนอกเหนือไปจากความต้องการหรือ ความพึงพอใจในสิ่งที่มนุษย์ได้ปฏิบัติอยู่โดยปกติศิลปะจึงไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาใช้แก้ความหิวกระหายที่อุปมาได้เช่นเดียวกับการดื่มน้ำ

ความคิดเห็นของโครเซ่ เกี่ยวกับผลสะท้อนของงานศิลปะจึงเป็นไปในแนวของอุดมคติ (Ideality) ซึ่งโครเซ่ได้กล่าวว่าเวลาที่จะดูงานศิลปะนั้น เราต้องเข้าใจหรือสนใจงานโดยส่วนรวม มิใช่สนใจเพียง บางส่วนเท่านั้นหรือเป็นส่วนๆเท่านั้น ในขณะเดียวกัน เรามองงานเพียงให้รู้ว่ามันเป็นอะไรเท่านั้น เราก็สามารถที่จะรับรู้ความงามของผลงานศิลปะนั้นได้ แต่ถ้าเมื่อใดผู้ดูหรือศิลปินมองศิลปะอย่าง ไตร่ตรองหรือมุ่งหวังในสิ่งใด หรือพยายามจัดประเภทแยกแยะส่วนประกอบแล้ว โครเซ่กล่าวว่า มันเป็นการกระทำที่โง่เขลาเลยทีเดียวผู้เขียนมีความเห็นว่า โครเซ่ ยกย่องในสถานภาพของผลงานศิลปะมากทีเดียว ถือว่าเป็นสิ่งที่สูงสุด ในความจริงทั้งหลายแล้ว แต่ถ้าจะพิจารณาในแง่ของผลสะท้อนของปฏิกิริยาทางภาวะจิตใจของมนุษย์ ที่มีต่อผลงานของศิลปะที่ผู้ดูได้ปะทะสัมพันธ์โดยตรงแล้วนั้น มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผู้ดูมักจะนำเอาความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปพัวพันกับงานศิลปะด้วย ทั้งนี้เพราะมีเงื่อนไขของเวลาเข้ามาประกอบ โครเซ่มิได้ปฏิเสธว่าศิลปะสามารถสะท้อนถึงเรื่องราวต่างๆได้ เช่นแสดงเรื่องราวของความดี ความชั่ว โดยที่ตัวของงานศิลปะมิได้เป็นสิ่ง ดี หรือ ชั่วแต่อย่างใด ความงามตามทรรศนะของโครเซ่ จะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ดูเข้าไปสัมผัสกับผลงานและเกิดการรับรู้ในทันทีนั่นเอง เพราะเป็นช่วงของการรับรู้ที่ปราศจากซึ่งกิเลส ตัณหาหรือ การนำเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นช่วงเวลาของความบริสุทธิ์ของจิตใจที่สามารถจะเข้าไปสัมผัสกับ Intuition ของศิลปินได้นั่นเอง

ส่วน จอห์น ฮอสเปอร์ นั้นมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการสะท้อนผลของอารมณ์ในผลงานที่มีผลกระทบ ต่อผู้ดูว่า เมื่อใดที่ผลงานศิลปะสามารถสร้างอารมณ์ให้เกิดขึ้นในตัวผู้ดูได้ เราสามารถที่จะสันนิษฐานได้เลย ว่า นั่นเป็นการสมมุติเอาเองของผู้ดูว่าเขาได้ซาบซึ้งในผลงานศิลปะ และการซาบซึ้งนั้นต้องมีการใจใส่หรือ ความตั้งใจ สนในใยส่วนประกอบย่อยอย่างแน่นอน และนั้นไม่ใช่การเอาใจใส่ต่อผลงานที่แท้จริงเพียง อย่างเดียวอาจเป็นการใช้ผลงานศิลปะเป็นสิ่งสะท้อนประสบการณ์เดิมของอารมณ์ ที่เคยทำลายความบริสุทธิ์ของเขาออกมา ฮอสเปอร์ยอมรับในความคิดที่ว่า ผลงานศิลปะนั้นเป็นการสร้างสรรค์รูปร่างของอารมณ์ ที่ศิลปินมีประสบการณ์ให้ปรากฎขึ้น หรือความต้องการของศิลปินที่อยากจะสะท้อนความรู้สึกบางอย่างออกมา ซึ่งอาจจะไปคล้ายกับความรู้สึก ของคนอื่นๆ ก็เป็นได้ เราอาจจะกล่าวได้ว่า เมื่อใดที่งานศิลปะปรากฎลักษณะ ของอารมณ์ที่แน่นอนออกมา เช่นมีความรู้สึกว่ามันเป็นความรู้สึกที่ห่อเหี่ยว หรือแสดงถึงความปิติยินดี นั่นก็แสดงว่า ในผลงานศิลปะนั้นจะต้องประกอบไปด้วย สื่อที่ศิลปินนำมาแสดงประกอบเป็นความหมายไว้ อาทิเช่น สี คุณค่า หรือเส้นฯลฯ ซึ่งเรียกว่าเป็นคุณสมบัติของสุนทรีย์วัตถุที่ทำให้เกิดการสื่ออารมณ์ ให้เกิดมีขึ้นในตัวผู้ดูดังกล่าว

ฮอสเปอร์ได้ให้ขอแนะนำเกี่ยวกับการที่จะสื่อความหมายของการแสดงออกในงานศิลปะและการที่จะแปลความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับอารมณ์ไว้ว่าเราต้องค้นหาสาเหตุแห่งเงื่อนไขปัญหาที่เป็นความรู้สึกแห่งการเริ่มต้น ของการแสดงออกให้ได้เสียก่อน เพื่อที่จะสามารถนำอ้างถึงได้คือ
1.มีวัตถุ ภายนอกมีอะไรบ้าง ที่สามารถเป็นสื่อแสดงความรู้สึกภายในให้ปรากฎออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่น การแสดงออกทางสีหน้า หรือท่าทาง(Facial expression of gesture) สามารถบ่งบอกได้ว่า บุคคลนั้นๆกำลังมีความสุข หรือ เศร้าเป็นต้น ซึ่งถ้าเราหยุดยั้งเพียงแค่นี้ เราก็จะได้ผลงานที่ปรากฎแค่เป็นการแสดงออกของ ความรู้สึกภายในของผู้สร้างสรรค์ผลงานออกมาเท่านั้น
ฮอสเปอร์เชื่อว่า เรายังคงต้องอาศัยผลงานศิลปะเป็นสื่อหรือพาหะนำพาเข้าไปสู่การสืบให้รู้แน่ชัดถึง เบื้องหลังของการสร้างสรรค์ ผลงานนั้นๆอยู่
2.ในงานศิลปะนั้นอาจจะบอกกล่าวถึง การแสดงออกบางอย่างหรือบรรจุเอาความรู้สึกที่แน่นอน บางอย่างหรือบรรจุเอาความรู้สึกที่แน่นอนบางอย่างที่เป็นอารมณ์ร่วมหรือมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมที่เป็น ปกติในชีวิตออกมาก็ได้ เช่นท่วงทำนองของจังหวะดนตรีที่มีจังหวะเร็ว เร่งเร้า มีระดับเสียงสูงๆต่ำๆ
เราคงจะไม่กล่าวได้ว่าเป็นเสียงดนตรีที่บ่งบอกถึงความสนุกสนานอย่างแน่นอน เป็นสิ่งที่เราสามารถ แปลความหมายได้โดยง่าย เพราะเป็นประสบการณ์เดิมที่ผ่านมาแล้ว ในงานด้านจิตรกรรม เมื่อเรา มองเห็นเส้นหยักปรากฎอยู่ในงานมันก็ย่อมไม่ใช่คุณสมบัติของสุนทรียวัตถุที่ แสดงความรู้สึกต่อเราว่าสื่อแสดงความหมายในทางสงบเงียบอย่างแน่นอน เป็นต้น

จากข้อเสนอแนะของฮอสเปอร์ดังกล่าว นับเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ดูงานศิลปะเกิดความเข้าใจในพื้นฐานของการสืบหาความงามหรือเกิดการรับรู้แห่งการแปลความหมายระดับหนึ่ง ซึ่งจะรู้แจ้งเห็นจริงในความงามขึ้นมาในทันทีเหมือนกับความหมายที่โครเซ่ ได้กล่าวไว้ หรืออาจจะเป็นสื่อนำพาไปหาสิ่งที่ลึกซึ้งที่ปรากฎอยู่ในตัวผลงาน สามารถเกิดความเข้าใจได้สอดคล้องกับศิลปิน มองเห็นความร่าเริงเบิกบาน ความสงบ ความอิสระ ความหรรษา ในผลงานศิลปะได้อีกด้วย
ผู้เขียนมีความเห็นด้วยกับทรรศนะของฮอสเปอร์ดังกล่าวเป็นอันมาก เพราะเป็นความเห็นที่สัมพันธ์สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์มากที่สุด เพราะมีอิสระที่จะคิดจะทำอะไรก็ได้ ถ้าเป็นสิ่งที่เขาเกิดความพอใจหรือเห็นว่าเป็นการสมควร ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจโดยส่วนตัวหรืออาจจะแสดงออกมาภายนอกก็ได้ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นความต้องการด้านความงามเป็นต้น

จาการที่ผู้เขียนได้กล่าวเกี่ยวกับศิลปะกับการแสดงออกทางอารมณ์ โดยอ้างอิงแนวความคิดของนักสุนทรียศาสตร์สองท่านคือ โครเซ่ และฮอสเปอร์ประกอบมาแล้วนั้นผู้เขียนใคร่ขอสรุปแนวความคิดที่ผู้เขียนนำมากล่าวในที่นี้ ด้วยการนำภาพเขียนสีน้ำ ภาพเหมือนของตัวเอง มาประกอบแนวทางสรุปคือ
การที่กล่าวว่าศิลปะคือการแสดงออกซึ่งอารมณ์นั้น เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นภายในซึ่งผู้สร้างงานต้องการแสดงออกซึ่งความ รู้สึกและอารมณ์บางอย่างออกมา

เช่นการเขียนภาพเหมือนของตัวข้าพเจ้า ที่ต้องการแสดงลักษณะบางประการในช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าจ้องดูภาพเสมือนตัวเองที่ปรากฎอยู่ในกระจกให้ถ่ายทอดลงในกระดาษ ซึ่งก็ได้แสดงออกทางอารมณ์ออกมาหลายลักษณะเช่น ต้องการแสดงซึ่งความสามารถทาง ทักษะ ความต้องการ
ที่จะให้เหมือน เช่นลักษณะของการตั้งใจทำงานด้วยการให้รายละเอียดแก่บริเวณ ตา จมูก ปาก เพราะในส่วนนี้ก็คือสัดส่วนที่จะบ่งบอกเอกลักษณ์ หรือลักษณะเด่นของตัวข้าพเจ้าออกมาได้ ซึ่งในขณะเดียวกันข้าพเจ้าก็มิได้ให้ความสำคัญแก่เส้นผม เท่าที่ควรทั้งนี้เพราะความสนใจของข้าพเจ้าพุ่งสู่ความสนใจเฉพาะในประเด็นของความเหมือน เช่น เดียวกับการเห็นเป็นภาพโดยส่วนรวมออกมาและเมื่อเขียนภาพนี้เสร็จออกมาจึงรู้ว่าตัวเองได้ถ่ายทอดสีหน้าท่าทางเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ดูทั่วไปก็คงจะทราบได้เช่นเดียวกับข้าพเจ้าและผู้ที่เคยเห็นหรือคุ้นเคยกับข้าพเจ้าก็คงจะบอกได้ว่า มีความเหมือนกับตัวจริงในระดับใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวข้าพเจ้าโดยแท้จริงก็คือ เกิดความพึงพอใจในภาพที่ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเขียนที่สมบูรณ์ที่ได้มีการสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาตามสภาวะของอารมณ์มาแล้วระดับหนึ่ง
บรรณานุกรม
1.Croce, Benedetto The Essence of Aesthetic. London: William Heiniman, 1913
2.Hospers, John. Art and Emotion, from proceedings of the Fourth International
Congress on Aesthetic. (Athens, 1960, pp. 662-666)